กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดนิทรรศการ Thailand Pavilion ในการประชุม COP 27

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดนิทรรศการ Thailand Pavilion ในการประชุม COP 27 เน้นนำเสนอความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ผ่านนิทรรศการ พร้อมกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) เชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมชิมกาแฟดอยตุง ซึ่งเป็นกาแฟอาราบิก้าคุณภาพสูง จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมรับของที่ระลึกสุดพิเศษ Magnet จากภาพถ่ายคู่กับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยอย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือจุดอื่นๆ ใน Thailand Pavilion ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  ผ่านสัปดาห์แรกของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 27 หรือ COP 27 ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมจัด Thailand Pavilion เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนของรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมนานาประเทศเป็นอย่างมาก

สำหรับกิจกรรมใน Thailand Pavilion ในการประชุม COP 27 นั้น นอกจากกิจกรรมที่สำคัญคือ การจัดแสดงนิทรรศการแล้ว กิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ถือเป็นกิจกรรมไฮไลท์ที่ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจตลอดทั้ง 4 วันของการเริ่มเสวนาที่ผ่านมา ในหลากหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 มีการเสวนาที่นำเสนอการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของเยาวชน ในหัวข้อ “Rising Ambition: integrating action for climate empowerment” ที่ประกอบด้วยเยาวชนจากประเทศอาร์เจนตินา ประเทศชิลี และเยาวชนตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการเสวนา โดยสรุปเยาวชนเห็นตรงกันว่าเวที COP27 ในครั้งนี้ ได้เปิดเวทีให้เยาวชนจากทั่วโลกเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเยาวชน เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ และได้พูดคุยอย่างจริงจังกับองค์กรระดับโลกถึงความต้องการ
ของเยาวชนต่อการขับเคลื่อนการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมงานมีพลังและความหวังในการกลับไปขับเคลื่อนกิจกรรมในประเทศของตน

 

ทั้งนี้ ตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเวทีเสวนา ได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการดำเนินงานกิจกรรมของตนให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมรับฟังด้วย อาทิเช่น โครงการเก็บขยะทะเลมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของแล้วนำไปขายเป็นเงินกลับสู่ชุมชน เศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย หากเรายังไม่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เราก็จะไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแม้ในรุ่นต่อไปก็ตาม ข้อความจากตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย การผลักดันการเรียนการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโรงเรียนทั่วประเทศ และการพัฒนารูปแบบการสื่อสาร และคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำอะไรพิเศษ เพียงแค่แต่ละคนช่วยลดการใช้พลาสติกลง ก็จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น จาก 100 คน เพิ่มเป็นล้านคน โลกก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้นแน่นอน ข้อความจากเยาวชนประเทศอาร์เจนติน่า รวมทั้งเยาวชนจากประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมรับฟังการเสวนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และประสบการณ์ด้านการขับเคลื่อนการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศตนในเวทีครั้งนี้ด้วย นับเป็นการรวมพลังเยาวชนใน Thailand Pavilion อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการเชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมชม Thailand Pavilion ถ่ายภาพทำ Magnet เพื่อมอบเป็นของที่ระลึก โดยถ่ายคู่กับภาพของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้รับรางวัลระดับทอง (G ทอง)โครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Park) หรือจุดอื่นๆ ใน Thailand Pavilion นอกจากนี้ ยังให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ชิมกาแฟดอยตุง จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นกาแฟอาราบิก้าคุณภาพสูง ต้นกาแฟปลูกอยู่ใต้ร่มไม้ในป่าเขียวชอุ่มของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ โดยชาวไทยภูเขา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ จะเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของการประชุม COP27 ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย จะเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High Level Segment) (ระดับรัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล) และจะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแสดงเจตจำนงของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับประชาคมโลกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อีกด้วย

Visitors: 2,013,234