GULF ประกาศ Core Profit ไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 3,556 ล้านบาท โตขึ้น 15% YoY จาก COD ของโรงไฟฟ้า GPD หน่วยที่ 1 และกำไรจาก INTUCH ที่เพิ่มขึ้น

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) อยู่ที่ 35,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จาก 24,553 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) สำหรับไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 3,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จาก 3,081 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การเติบโตดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ IPP ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 MW ภายใต้กลุ่ม IPD โดยหน่วยที่ 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 662.5 MW ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยรับรู้ Core Profit จำนวน 223 ล้านบาทในไตรมาส 2/2566  ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP ที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เพิ่มขึ้น โดยมี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 78% ในไตรมาส 2/2565 เป็น 80% ในไตรมาส 2 ปีนี้ และยังมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาค่าก๊าซเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลง โดยราคาค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงจาก 449.15 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาส 2/2565 เป็น 406.44 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาสนี้ หรือลดลง 10% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.17 บาท/kWh ในไตรมาส 2/2565 เป็น 1.12 บาท/kWh ในไตรมาสนี้ 

นอกจากนี้ GULF ได้เริ่มรับรู้รายได้และกำไรของกลุ่ม THCOM เข้ามาในงบการเงินรวมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 โดยในไตรมาส 2/2566 GULF รับรู้รายได้ จำนวน 639 ล้านบาท และกำไร จำนวน 116 ล้านบาท จากกลุ่ม THCOM สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายใต้ GULF1 นั้น ได้เปิดดำเนินการแล้ว 88 MW ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 เมื่อเทียบกับ 4 MW ในไตรมาส 2/2565 ส่งผลให้รับรู้ Core Profit จำนวน 48 ล้านบาทในไตรมาสนี้

ในไตรมาส 2/2566 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน (ส่วนแบ่งกำไร Core Profit) จากบริษัทในเครือทั้งสิ้น จำนวน 2,153 ล้านบาท โตขึ้น 6% จาก 2,035 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH จำนวน 1,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ AIS ประกอบกับรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit ของกลุ่ม GJP จำนวน 579 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากโครงการโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการ ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลงและค่า Ft เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2566 GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation จำนวน 148 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ในประเทศโอมาน จำนวน 139 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 52 MW ในไตรมาส 2/2565 เป็นครบทั้งสิ้น 326 MW ในไตรมาส 2/2566 รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว Thai Tank Terminal จำนวน 59 ล้านบาทในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกชดเชยบางส่วนจากส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ที่ประเทศเยอรมนี ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง ซึ่ง GULF ได้จำหน่ายหุ้นในสัดส่วน 25.01% ให้ Keppel Group ในเดือนธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ PTTNGD ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเตาลดลงในอัตราที่สูงกว่าราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรายได้ของโครงการดังกล่าวจะผูกกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับส่วนขาดทุนจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson Generation ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1.99 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ในไตรมาสนี้

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 2/2566 เท่ากับ 8,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับ 7,174 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 และกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 2/2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 2,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88% จาก 1,531 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจาก 34.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 เป็น 35.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.76 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.56 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากจำนวนหนี้สินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากการออกและจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 20,000 ล้านบาท ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประกอบกับมีการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนในโครงการ GPD

                นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและระธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 2566 คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตขึ้นประมาณ 50% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จากการเปิดดำเนินการของโครงการของ GULF ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งยังคงดำเนินไปตามแผน โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong ที่ประเทศเวียดนามได้เปิดดำเนินการครบทั้งสิ้น 128 MW เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่  ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 662.5 MW มีกำหนดเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และโครงการ Solar Rooftop ภายใต้ GULF1 มีกำหนดจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 40-50 MW ภายในปีนี้ รวมเป็น 130-140 MW นอกจากนี้ แนวโน้มค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลง จะส่งผลให้กำไรของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ดีขึ้น ในส่วนของธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยภายใต้ Gulf Binance นั้น GULF ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อย และมีกำหนดเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้

สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของ GULF ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังมีความคืบหน้าตามแผน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะถมทะเลแล้วเสร็จในปี 2567 โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างสถานีรั-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ต่อทันที และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 และ M81 ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งมีกำหนดจะเปิดดำเนินการตามแผน ในส่วนของธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ภายใต้ธุรกิจดิจิทัล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายนปีนี้ โดยมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2568

ทั้งนี้ GULF ยังคงมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนต่อหนึ่งหน่วยของการผลิต (Carbon Intensity) ให้ได้ 25% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐานปี 2562 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2578 โดยกลุ่ม GULF อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในขณะเดียวกัน GULF ยังมีแผนการในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เช่น ยุโรป อังกฤษ อเมริกา และเวียดนาม ทั้งในรูปแบบการลงทุนใหม่ (Greenfield) และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ทั้งนี้ GULF เชื่อมั่นว่าแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนของบริษัทและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจะสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

Visitors: 2,130,421