กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดงานวันเสือโคร่งโลกประจำปี 2566 “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” เดินหน้าแผนเสือโคร่ง ฉบับที่ 2 ก้าวสู่การเป็นผู้นำการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า 11 องค์กร ประกอบด้วย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย องค์การแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) องค์กรทราฟฟิค ประเทศไทย (TRAFFIC Thailand) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวรายงาน และนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้การต้อนรับ
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยที่ผ่านมา ตามนโยบายและแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2565 ) ด้วยการศึกษาวิจัย การฟื้นฟู การจัดการถิ่นอาศัยของเสือโคร่งและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565-2577 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย ด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก พร้อมกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577
ทั้งนี้มีการเสวนาและแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน”โดยมีนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้แทนภาควิชาการจากสถานศึกษา และตัวแทนจากภาคประชาชน ดำเนินรายการโดยนายสถาพร ด่านขุนทด
ในวันเสือโคร่งโลกปีนี้ นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันเสือโคร่งโลก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2566 ขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” โดยจากการประเมินประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ในปี 2565 พบเสือโคร่ง จำนวน 148-189 ตัว เพิ่มขึ้นจากสถิติ ปี 2563 ที่สำรวจพบ 130-160 ตัว โดยอาศัยเทคนิคการประเมินเฉพาะทางและการจำแนกลายที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งไว้มากกว่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง จากการศึกษาวิจัยนี้ เรายังพบอีกว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด คือ 103-131 ตัว ในส่วนของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์แห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกตอนเหนือ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ขึ้นไปจนอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตาก สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ จำนวน 16 - 21 ตัว ไม่เพียงแต่ภาพของเสือโคร่งเท่านั้น หากแต่ยังบันทึกภาพเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น กวางป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง เป็นต้น สิ่งนี้เป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่าและความเหมาะสมของการเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565 - 2577 โดยตั้งเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในถิ่นอาศัยเป้าหมาย ได้แก่ ผืนป่าแก่งกระจาน ผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาว และผืนป่าคลองแสง-เขาสก ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2577 เป้าหมายและความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงผลงานของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังคงมีหน่วยงานจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน องค์กรอิสระต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้คือประชาชนทุกคน ที่คอยสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกัน
สำนัก่ข่าวอีเอ็นเธอร์ : 5/8/2566