กรมอุทยานฯ แจ้งจับเรือประมง 14 ลำ ลักลอบทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติฝั่งอันดามัน ผิด พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ 5 ข้อหา
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า มีการตรวจพบ เรือลักลอบทำประมงในอุทยานแห่งชาติแหลมสน จังหวัดระนอง จำนวน 12 ลำ เป็นชนิดเรือลากแผ่นตะเฆ่ และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ จำนวน 2 ลำ เป็นชนิดเรือลากคู่ ซึ่งเรือประมงดังกล่าวเป็นเรือประมงพาณิชย์ซึ่งมีเครื่องมือทำลายล้างสูงมีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส ขึ้นไป ซึ่งไม่สามารถเข้ามาทำประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้ จึงได้สั่งการให้นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วยนายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้านป้องกันรักษาป่า และนางสาววิลันดา ปูเต๊ะ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ นายจิรศักดิ์ จารุศักดาเดช เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน และนางรักชนก แพน้อย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี เข้าแจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีเรือประมงพาณิชย์ที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งหมด 14 ลำ ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยมี พ.ต.อ.อนันต์ วรสาตร์ ผู้กำกับการ สน.บางเขน เป็นผู้รับเรื่องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม.
นายอรรถพล ยังได้กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ คณะทำงานวิเคราะห์ สถานการณ์ การตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงและแรงงานในภาคประมง ของกรมประมง ได้ส่งข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 27 ลำ ที่เข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยกรมอุทยานฯ ได้แจ้งความกล่าวโทษดำเนินคดีเรือประมงพาณิชย์ที่เข้ามาลักลอบทำการประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จำนวน 15 คดี รวมเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมด 28 ลำ และต่อมา คณะทำงานฯ ของกรมประมง ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0511.2/797 ลงวันที่ 19 เมษายน 2566 ส่งข้อมูลเรือประมงที่มีพฤติกรรมการลักลอบเข้าทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั่วประเทศทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 22 มกราคม 2566 พบเรือที่เข้าข่ายกระทำความผิดอีกจำนวนหนึ่งและส่งข้อมูลให้กรมอุทยานฯ พิจารณาบังคับใช้กฎหมาย
โดยในครั้งนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหาเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวม 5 ข้อหา ดังนี้
1. ฐานร่วมกันเก็บหานำออกไป กระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอื่นหรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 (2) ประกอบมาตรา 42 วรรคหนึ่ง
2. ฐานร่วมกันล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 (3) ประกอบมาตรา 43
3. ฐานร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 (6) ประกอบมาตรา 44
4. ฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 (7) ประกอบมาตรา 45 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 (7) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ประกอบมาตรา 56 บรรดาไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติอื่นใดที่มีอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด หรืออาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ สิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ตามมาตรา 19 (1) (2) (4) (5) (7) หรือ (10) ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่
5. ฐานบุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 20 หรือมาตรา 28 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 21 มาตรา 22 หรือมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมประมง ได้ร่วมมือกันในการเฝ้าระวังตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย ทั้งตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อที่จะกำหนดให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ทางทะเลเป็นแหล่งอนุรักษ์และอนุบาลสัตว์น้ำ สร้างความยั่งยืนให้ท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป.