ส่งออกไทยเดือน มิ.ย. ยังหดตัวต่อเนื่อง แม้ในระยะต่อไปมีแรงหนุนจากฐานต่ำ แต่ต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน มิ.ย. หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน มิ.ย. 2023 อยู่ที่ 24,826.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -6.4%YOY หดตัวเพิ่มขึ้นจาก -4.6% ในเดือนก่อน มูลค่าส่งออกหักทองคำและอาวุธ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง หดตัวเพียง -5.0% และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกเทียบเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาลหดตัวเพียง -0.7%MOM_sa โดยรวมมูลค่าส่งออก 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 141,170.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -5.4%
ภาพการส่งออกรายสินค้าหดตัวทุกกลุ่ม
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน มิ.ย. หดตัวทุกกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรหดตัว -7.4%YOY หลังจากหดตัว -27% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกยางพาราหดตัวต่อเนื่อง 11 เดือนที่ -43.0% ขณะที่ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 14.2% หลังจากหดตัวแรง -54.8% ในเดือนก่อนตามผลผลิตจากภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น ส่งออกไก่สด แช่เย็น แช่แข็งขยายตัว 10.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ปัจจัยหนุนจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในบราซิลส่งผลให้มีความต้องการไก่ทดแทนจากไทยมากขึ้น (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนอยู่ที่ -10.2%YOY หดตัวเพิ่มจาก -0.6% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์หดตัวมากถึง -80.8% เทียบกับ -63% ในเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกน้ำตาลทรายขยายตัว 31.4% ชะลอลงบ้างจาก 44.2% ในเดือนก่อน(3) สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว -4.6%YOY หลังจากเดือนก่อนขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หดตัว -25.3% ต่อเนื่อง 9 เดือน การส่งออกอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบหดตัว -68.8% แต่หากหักผลของทอง อาวุธ และอากาศยาน พบว่าสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมหดตัวเพียง -1.4% ขณะที่ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -25.5%YOY เทียบกับ -39.9%ในเดือนก่อน จากการส่งออกน้ำมันดิบที่หดตัว -29.0%
ภาพรวมตลาดส่งออกหลักยังผันผวนสูง การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นพลิกมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาหดตัวอีกครั้ง
การส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ยังผันผวนสูง โดย (1) ตลาดจีนพลิกกลับมาขยายตัว 4.5%YOY หลังหดตัว -24% ในเดือนก่อน จากการส่งออกผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง (29.1% ของมูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด) ที่ขยายตัว 17.2% หลังหดตัวในเดือนก่อน รวมถึงตลาดฮ่องกงขยายตัวดี 17.6% ตามการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวถึง 133.9%YOY (2) ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว 2.5%YOY หลังหดตัว -1.8% ในเดือนก่อน ขณะที่ (3) ตลาดสหรัฐฯ หดตัว -5.0%YOY หลังขยายตัว 4.2% ในเดือนก่อน (4) ตลาดยุโรป (EU28) หดตัว -6.4%YOY หลังขยายตัว 9% ในเดือนก่อน และ (5) ตลาด ASEAN หดตัวแรงทั้งตลาด ASEAN5 -18.0% และ CLMV -23.0%
ดุลการค้าเกินดุลครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ผลจากมูลค่านำเข้าที่หดตัวแรงกว่ามูลค่าส่งออก
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มิ.ย. อยู่ที่24,768.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -10.3% หดตัวแรงขึ้นจาก -3.2% ในเดือนก่อน หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง หดตัว -11.4% หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ -1.7% โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-14.5%YOY, CTG -6.1%) และสินค้าเชื้อเพลิง (-19.0%YOY, CTG -4.2%) ขณะที่มูลค่านำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 10.2% เนื่องด้วยมูลค่านำเข้าหดตัวแรงกว่ามูลค่าส่งออก ดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือน มิ.ย. จึงเกินดุลเล็กน้อยครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังขาดดุล -1,849.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ดุลการค้าในระบบศุลกากรในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ขาดดุล -6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกในระยะต่อไปแม้อาจได้รับแรงหนุนจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงท้ายปี แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วรวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลง SCB EIC มองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปียังขาดหลายปัจจัยหนุน เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลง โดยเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลง 0.8%QOQ จาก 2.2%QOQ ในไตรมาส 1 การนำเข้าสินค้าของจีนในเดือน มิ.ย. ยังหดตัวต่อเนื่อง -8.6%YOY ขณะที่การนำเข้าสินค้าไทยของจีนหดตัวแรง -17.4% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูงที่มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 2022 สูงสุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูล แต่หากเทียบข้อมูลเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้าของจีนขยายตัว 4.9%MOM_sa(2)ดัชนี Flash Manufacturing PMI[1] ในเดือน ก.ค. ของประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวแรงต่อเนื่อง นำโดย Eurozone Manufacturing PMI ที่ลดลงมาอยู่ที่ 42.7 (43.4 ในเดือน มิ.ย.) UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 45.0 (46.5 ในเดือน มิ.ย.) Japan Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 49.4 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ US Manufacturing PMI ยังอยู่ในภาวะหดตัวที่ระดับ 49.0 แม้ปรับดีขึ้นจาก 46.3 ในเดือนก่อน (3)ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน ก.ค. หดตัว -15.2%YOY หลังจากขยายตัว 5.2% ในเดือนก่อนจากปัจจัยฐานต่ำ และหากเทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล หดตัว -2.9%MOM_sa นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดจีนและสหรัฐฯ หดตัวมากขึ้น -21.2%YOY และ -7.3%YOY ตามลำดับ ในระยะต่อไปยังต้องจับตา(4) ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (El Nino)ที่อาจกระทบผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรตั้งแต่ปลายปีนี้แต่ความเสียหายส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2024
อย่างไรก็ตาม มุมมองการส่งออกของไทยในระยะต่อไปยังพอมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง จาก (1) ปัจจัยฐานต่ำโดยเฉพาะในช่วงปลายปี มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนเฉลี่ยที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เทียบค่าเฉลี่ยปี 2022 ที่สูงเกือบ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) แรงกดดันอุปทานคอขวดคลี่คลายสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ค่าระวางเรือลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสูงมีแนวโน้มทยอยหมดไป และ (3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น จะมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันของ OPEC+ มีแนวโน้มทำให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้ง นโยบายระงับการส่งออกข้าวของอินเดียคาดว่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของโลกปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
[1] ข้อมูลผลสำรวจล่วงหน้า (Early estimates) ของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ครอบคลุมประมาณ 85% - 90% ของคำตอบแบบสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งหมดในแต่ละเดือน