“คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และเตรียมการรับมือ ในปี 2568”

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาวิกฤตของปีที่ผ่านมา ภาพรวมของประเทศ ปริมาณฝุ่นละอองPM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ลดลงร้อยละ 11 ซึ่งจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ดังนี้ 1) พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 129 วัน เท่ากับปีที่ผ่านมา 2) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 97 วัน ลดลงร้อยละ 5 3) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 113 ลดลงร้อยละ 2 4) พื้นที่ภาคกลาง จำนวน 101 วัน ลดลงร้อยละ 7 5) พื้นที่ภาคตะวันตก จำนวน 84 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 211 และในช่วงเวลาอันใกล้นี้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองจะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างเข้มข้น พร้อมสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต             

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” โดย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการฯ และกลไกการบริหารจัดการ ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 มาตรการฯ ปี 2568 จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด โดยการปฏิบัติการมีดังนี้  

• ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด

• การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว 

• การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา

• การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง

• การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน

• การบริหารจัดการภาพรวม จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5  มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต             

โดยมีการกำหนดเป้าหมายลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่า ร้อยละ 25 และบริหารจัดการพื้นที่ป่าแปลงใหญ่รอยต่อไฟ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ด้วยกลไกข้ามเขตป่าข้ามเขตปกครอง  ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรและพืชเป้าหมาย ร้อยละ 10 – 30 ควบคุมฝุ่นจากยานพาหนะและโรงงานในพื้นที่เมือง ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบ ร้อยละ 100  ตั้งเป้าลดค่าเฉลี่ย PM2.5 ลงร้อยละ 5 – 15 ควบคุมค่าเฉลี่ย PM2.5 24 ชั่วโมงสูงสุดไม่เกินค่าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และลดจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานลงร้อยละ 5 - 10

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการดำเนินงานตามมาตารการฯ โดยเฉพาะการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในพื้นที่ชุมชนและริมทาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ทั้งในมิติการส่งเสริมและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงเตรียมพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข การ Work From Home การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชน และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai 

ดร.ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละออง ปี 2568 โดยกล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กระยะไกลล่วงหน้า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration/NOAA) ประเมินว่าช่วงระหว่างเดือนกันยายนไปจนถึงพฤศจิกายน 2567 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” (La Nina) ซึ่งจะส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมประเทศไทย มีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้การลุกลามจากการเผาไหม้เศษวัสดุชีวมวลไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ภายใต้ปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” (สภาวะแห้งแล้ง) ประกอบกับการดำเนินการภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ที่จะสามารถควบคุมแหล่งกำเนิดที่มีนัยสำคัญได้ครบทุกมิติ จึงคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะยาวได้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์อันใกล้นี้ ผลการประเมินจากกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มที่ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2567 ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่จะมีสภาวะที่อากาศปิดส่งผลให้ฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง สามารถติดตามสภานการณ์ได้จากแอปพลิเคชัน Air4Thai และแฟนเพจ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เพื่อรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้อง และนำไปใช้ประกอบการวางแผนการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างเหมาะสม

 

Visitors: 1,991,561