พล.ต.อ.พัชรวาท มอบที่ปรึกษาและผช.รมว.ทส. ปล่อยช้างป่า พลายไข่นุ้ย เข้าศูนย์บริบาลช้างป่า โดยการสนับสนุนมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบโมเดลการแก้ไขปัญหาช้างป่า

วันนี้ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) มอบหมายให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า  รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปล่อยช้างป่าพลายไข่นุ้ย (พลายเจ้างา) เข้าสู่ศูนย์บริบาลช้างป่า ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)  คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ฯ 

นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า ตามที่ปรากฏกรณีช้างป่า "พลายไข่นุ้ย" หรือ "พลายเจ้างา" ช้างป่าเพศผู้ อายุ 8-10 ปี สูง 2.0-2.3 เมตร น้ำหนักประมาณ 2.0-2.5 ตัน มีพฤติกรรมเกเร ออกจากอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำลายพืชผลอาสินทางการเกษตร ก่อให้เกิดความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในท้องที่อำเภอนบพิตำ และบริเวณใกล้เคียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ได้ทำการผลักดันจนช้างกลับเข้าสู่ป่าได้สำเร็จ แต่ช้างป่าพลายไข่นุ้ยหรือพลายเจ้างา ได้ออกนอกพื้นที่ป่าอีกครั้ง และเริ่มมีพฤติกรรมดุร้าย วิ่งไล่คนที่พบเห็น จนกลุ่มราษฎรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจับและเคลื่อนย้ายช้างป่าพลายเจ้างาหรือพลายไข่นุ้ย เพื่อนำไปปล่อยไว้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือพื้นที่อื่นที่เหมาะสม 

ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ปฏิบัติการจับช้างป่าพลายไข่นุ้ยหรือพลายเจ้างาได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 และได้เคลื่อนย้ายช้างป่าพลายไข่นุ้ยหรือพลายเจ้างา มาดูแลที่หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอการสร้างคอกอนุบาลช้างป่า ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา ตามแบบมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการช้างป่าแล้วเสร็จ

สำหรับ “โครงการก่อสร้างคอกอนุบาลช้างป่า ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา” นั้น กรมอุทยานฯ ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการและการดูแลสัตว์ป่า เพื่อร่วมมือทางวิชาการ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรช้างป่า การดูแลช้างป่าที่บาดเจ็บ การจัดหาสถานที่ดูแล รักษา และพักฟื้นช้างป่าให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ หรือปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงการพิจารณาแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชน อีกทั้งเพื่อเป็นการขานรับนโยบาย จาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธาน คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ที่ให้กรมอุทยานฯ เร่งรัดแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์อีกด้วย

จากความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่าพลายไข่นุ้ยหรือพลายเจ้างา ดังกล่าว นับว่าเป็นโครงการต้นแบบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการช้างเกเร ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า ได้มีมติให้ขยายผลความร่วมมือในการก่อสร้างคอกบริบาลช้างป่าในพื้นที่ป่าตะวันออกด้วย โดยกรมอุทยานฯ กำหนดให้สร้างที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งสัตวแพทย์ สัตวบาล และเจ้าหน้าที่ดูแล

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะช้างป่าที่ออกมาสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยู่โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต้องสูญเสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้าย ซึ่งพล.ต.อ.พัชรวาทฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า ให้ลงมากำกับดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้คณะทำงานฯได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางในการสร้างสถานที่ปรับพฤติกรรมช้างป่าซึ่งมีนิสัยดุร้ายเกเร ได้มีการวางแผนโดยใช้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา เป็นสถานที่ปรับพฤติกรรมของช้างพลายไข่นุ้ย ซึ่งจะใช้แนวทางเดียวกันนี้ เป็นโมเดลสำหรับแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

Visitors: 2,013,188