กรมอุทยานฯเร่งจับอีกัวน่าตามสั่งการรมว.กระทรวงทรัพยฯทีมจับลงพื้นที่ลพบุรีและอุดรธานี สแกนจับทั่วประเทศ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อีกัวน่าเขียว สัตว์ต่างถิ่น มีการแพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน นั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งแก้ไขปัญหาอีกัวน่าที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน โดยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่าน สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรีได้มีการประชุมหารือแนวทางการจัดการอีกัวน่าเขียว ในจังหวัดลพบุรี และในพื้นที่จังหวัดอื่น เพื่อกำหนดและวางแผนการดำเนินการในระยะเร่งด่วน 

โดยในวันนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี นำโดยนายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี นายกฤติน หลิมตระกูล ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี ปลัดอำเภอพัฒนานิคม ปศุสัตว์อำเภอพัฒนานิคม และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่3 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ชุมชนเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อประเมินสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย พบว่าการกระจายตัวของอีกัวน่าเขียวในพื้นที่จะกระจายตัวใกล้บ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะบริเวณที่มีต้นไม้สูงใกล้แหล่งน้ำและบางส่วนพบเห็นตามพื้นที่ไร่สวนของประชาชน จำนวนประชากรอีกัวน่าที่สำรวจได้ ทั้งหมด 71 ตัว และยังคงดำเนินการสำรวจนับประชากรอีกัวน่าเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้สามารถจับอีกัวน่าเขียวได้จำนวนทั้งหมด 5 ตัว และจะดำเนินการดักจับอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่มีการดักจับอีกัวน่าเขียวได้แล้วนั้น ทางส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าจะดำเนินการส่งสัตว์ไปศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก เพื่อดูแลต่อไป 

สำหรับบริเวณพื้นที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี โดยนายสมบัติ สุภศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยนายฤทธิรงค์ อรุณเดชาวัฒน์ หัวหน้าสวนรุกขชาติบ้านดุง นายประสิทธิ์ พุทธบูชา หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าหนองคาย นายอภิชา โคตรรัตน์ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 คน ประชุมวางแผนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการกระจายพันธุ์ การทำลายพืชผล การรบกวนระบบนิเวศน์ของอีกัวน่าเขียว บริเวณพื้นที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีนายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอบ้านดุง เป็นประธานการประชุม ร่วมกับคณะกรรมการบริหารพื้นที่คำชะโนด ที่ประชุมได้ชี้แจงสภาพปัญหา และร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ประชุมให้นำอีกัวน่าเขียวในพื้นที่คำชะโนดออกจากบริเวณพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากสถานการณ์ของอีกัวน่าเขียวในพื้นที่คำชะโนด พบว่ามีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังไม่พบการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง และยังไม่พบว่ามีการกระจายเข้าไปทำลายพืชผลการเกษตรของราษฎรแต่อย่างใด ซึ่งสาเหตุที่มีอีกัวน่าเขียวในพื้นที่คำชะโนด เนื่องจากมีผู้ลักลอบนำมาปล่อย จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่จึงร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่คำชะโนด เพื่อดำเนินการดักจับอีกัวน่าเขียว โดยสามารถดักจับได้จำนวน 3 ตัว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะนำไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.สังคม จ.หนองคาย สำหรับอีกัวน่าเขียวที่ยังไม่สามารถจับได้คณะเจ้าหน้าที่จะร่วมกันวางแผนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลชาวบ้านในจังหวัดลพบุรี พบว่า มีบางส่วนได้รับผลกระทบจากอีกัวน่าเขียวเพียงเล็กน้อย เช่น อีกัวน่าเขียว เข้าไปกัดกินพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านพักอาศัย และแย่งกินอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น อาหารไก่ อาหารวัว จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน หากมีการพบเห็นอีกัวน่าเขียวให้โทรฯ แจ้งทางสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้บริเวณพบเจอเข้าดำเนินการนำตัวอีกัวน่าเขียวไปส่งยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า หรือสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

สำหรับ เรื่องโรคติดต่อระหว่างอีกัวน่าสู่คนนั้น (โรคซาโมเนลโลซิส) จากก่อนหน้าที่มีการตรวจหาเชื้อ Salmonellosis ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Enterobacteriaceae ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้นั้น เชื้อดังกล่าวสามารถพบได้เป็นปกติในทางเดินอาหารโดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ของอีกัวน่า หรือสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆในธรรมชาติ เช่น งู กิ้งก่า เต่า เมื่อสัตว์เหล่านี้ขับถ่ายอุจจาระออกมาภายนอก จึงมีการปนเปื้อน ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน ได้ จากการศึกษาพบว่า 85% ของเต่า 77% ของกิ้งก่า และ 92% ของงู  จะเป็นพาหะของเชื้อ Salmonella spp. ซึ่งตัวสัตว์เองมักไม่แสดงอาการป่วย แต่เชื้อสามารถทำให้เกิดอาการป่วยในมนุษย์ได้ แต่อาการป่วยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่ได้รับเข้าไป ภูมิคุ้มกัน และสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อ โดยคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่างการปกติดี มักไม่มีอาการรุนแรง อาจหายได้เอง อาการป่วยที่มักพบ คือ ท้องร่วง ปวดท้อง มีไข้ ภายหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 12-72 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่ผู้ได้รับเชื้อมีผู้คุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยHIV ผู้ได้รับเคมีบำบัด ได้รับยาสเตียรอยเป็นเวลานาน ผู้ป่วยเบาหวาน หรือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า1ปี คนชรา จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และอาการมักรุนแรง ถึงอย่างนั้นโรคซาโมเนลโลซิสก็ไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ร้ายแรงถึงขั้นหวาดกลัว หรือตื่นตระหนกเกินไป ถ้าระมัดระวังและปฏิบัติตัวเมื่อสัมผัสโดยตรงกับสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัมผัสทางอ้อมจากสิ่งปนเปื้อนของมูลสัตว์ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับตัวอีกัวน่าเขียว หรือสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ควรมีการสวมใส่ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรค ล้างมือหรือส่วนต่างๆของร่างกายด้วยสบู่หลังจากสัมผัสอีกัวน่า หรือมูลของมัน หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ยังไม่สุก เพราะในเนื้อสัตว์ดิบก็สามารถพบเชื้อซาโมเนลโลซิสได้เช่นกัน และควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน เพราะเชื้อซาโมเนลโลซิสสามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้หากพบอีกัวน่า ใกล่บริเวณบ้านควรล้างทำความสะอาดบ้าน หรือภาชนะต่าง ๆ ที่มีอีกัวน่ามาอยู่ในบริเวณนั้นด้วย

E ENTER NEWS : 16 พ.ย.2566

Visitors: 2,130,375