เปิดแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวมุสลิม 5 ปี ของกรมการท่องเที่ยว ยกระดับผู้ประกอบการไทย สร้างเม็ดเงินท่องเที่ยวมุสลิม พร้อมเดินหน้าส่งมอบต่อรัฐบาลใหม่ผลักดัน หวังปักหมุดไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570
กรมการท่องเที่ยวได้จัดการอบรมให้ความรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านบริการเพื่อการท่องเที่ยว พร้อมชี้แจงแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีวิทยากรจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน รวมถึงผู้ประกอบการจากธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สปา เวลเนสเพื่อสุขภาพ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว ร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน ผ่านระบบการประชุมทางไกล (online meeting)แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ประกอบกับที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง อันเป็นผลมาจากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เพื่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง โดยการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 875,043 คน 767,318 คน และ 727,318 คน ตามลำดับ ก่อให้เกิดรายได้ 72,739.64 ล้านบาท 61,795.44 ล้านบาท และ 57,381.19 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเป็นกลุ่มที่มี วันพักเฉลี่ยประมาณ 13 วันต่อทริป และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 6,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมโลก อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศที่ไม่ใช่ รัฐอิสลาม (กลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม หรือ Non-OIC) โดยประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ อังกฤษ และไต้หวัน ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม คือ การบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นพื้นฐานของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังพบว่า นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง รวมทั้งจากประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่สำคัญต่อประเทศจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. 2561 นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวทั่วโลกประมาณ 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5.87 ล้านล้านบาท และภายในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าจะใช้จ่ายสูงถึง 2.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8.51 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย ปี พ.ศ. 2562:1 USD = 31.047 บาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย)นักท่องเที่ยวผู้หญิงชาวมุสลิมเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ โดยในปี พ.ศ. 2561 ร้อยละ 28 ของการเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิมเป็นการเดินทางคนเดียว (Solo Travels) โดยมีแรงจูงใจในการเดินทาง คือ การคำนึงถึงร้านอาหารฮาลาลเป็นสำคัญ (ร้อยละ 94%) การคำนึงถึงห้องละหมาดที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิง (ร้อยละ 86%) การเลือกสถานเสริมความงามและสปาสำหรับผู้หญิงเท่านั้น (ร้อยละ 79%) การเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 73%) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง ประเทศที่เติบโตที่สำคัญที่สุดคือ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลบานอน และคูเวต โดยพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในประเทศไทยมีแรงจูงใจหลายประการเช่น ต้องการพักผ่อนและสัมผัสสถานที่ใหม่ๆ หลีกหนีจากความร้อนในฤดูร้อน อยากเรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมใหม่ ชอบการจับจ่ายซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องเทศ สมุนไพร แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกายของไทย และชอบรับประทานอาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงชอบอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัยที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาล และนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางยังนิยมเลือกโรงแรมมากกว่าที่พักอื่นๆ และร้อยละ 68 สนใจในจุดหมายปลายทางที่มีผู้คนพลุกพล่านน้อยกว่าเมืองเล็กๆ และนิยมการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ 1) การยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน 2) การพัฒนาสินค้า บริการ และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม 3) สนับสนุนการนำเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมุสลิม 4) บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม 5) เพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างการรับรู้ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า “ นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลกเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 10 ของนักเดินทางทั้งหมด และมีความต้องการเฉพาะ ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมากเหล่านี้ เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูง และมีข้อกำหนดคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม และยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีรูปแบบการเดินทางที่แตกต่างกันไป ตามอายุ เพศ และวัตถุประสงค์ของการเดินทาง กรมการท่องเที่ยว จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันฮาลาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า การท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นทิศทางในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2570 เพื่อสร้างเอกภาพและความร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และกระบวนการผลิตสินค้า
และบริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และยกระดับการเข้าสู่มาตรฐานการบริการสำหรับกลุ่มตลาดนี้โดยเฉพาะ
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 5 ของจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570”