SAWAD กำไรเด่นกลุ่มนอนแบงก์ ทำกำไรไตรมาส 2/66 กว่า 1,223 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2,544 ล้านบาท ดันพอร์ตสินเชื่อคงค้างมุ่งหน้าสู่ระดับ 90,000 ลบ. ด้านผู้บริหาร ธิดา แก้วบุตตา พร้อมเดินเกมขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่องตามเป้าหมายในทุกกลุ่มธุรกิจ มั่นใจคุมเอ็นพีแอลอยู่หมัด
ธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวม 1,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,138 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยราว 3,444 ล้านบาท และรายได้อื่นราว 946 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 4,390 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 59.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการเติบโตทั้งรายได้และกำไร มาจากกลยุทธ์ในการขยายตัวพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หนุนให้กำไรเพิ่มขึ้น อีกทั้งการซื้อบริษัทเงินสดทันใจคืนจากธนาคารออมสิน ทำให้พอร์ตสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนคงที่ได้ จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัท
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิรวม 2,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,256 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 8,350 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 58.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของบริษัท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 89,297 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตหลังจากหยุดการขยายพอร์ตสินเชื่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย บริษัทจึงเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อตามเป้าหมาย
“ธุรกิจหลักจำนำทะเบียนรถและปล่อยสินเชื่อ บริษัทสามารถปล่อยได้ตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการพอร์ตให้ NPL อยู่ในระดับเหมาะสม ดูแลลูกค้าผ่อนตรงตามงวดและเป็นไปตามแนวทางของบริษัทที่กำหนดไว้ ซึ่งเราตั้งเป้าการเติบโตในทุกๆปี และจะให้เติบโตใกล้เคียงกับเป้าหมาย ดังนั้นผลงานในช่วงไตรมาสที่ 2 หลังจากที่เรากลับมาโฟกัสการเติบโตพอร์ตสินเชื่อ จึงเติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยที่ระดับ NPL ใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสที่ 1” ธิดา กล่าว
ทั้งนี้การที่กลุ่มธนาคารได้ขยายธุรกิจ ออกผลิตภัณฑ์แข่งขันกับกลุ่มนอนแบงก์ บริษัทไม่ได้มีความกังวลในประเด็นนี้แต่อย่างใด และบริษัทได้มีการวางแผน ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแข่งขันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น ท้ายที่สุดบริษัทประเมินว่าการแข่งขันดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีในแง่การเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ใช้บริการ