กองทุนน้ำมันฯ เร่งศึกษาศักยภาพเชื้อเพลิงชีวภาพ ก่อนขยายระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยต่อหรือไม่

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมรวบรวมข้อมูลทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลจากผู้ประกอบการและเกษตรกรในการปรับตัวพัฒนาศักยภาพรองรับภายหลังการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งการขยายระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพรอบแรกจะสิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน 2567

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกนช. อยู่ระหว่างศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการเตรียมความปรับตัวรับมือกับสถานการณ์หากต้องยกเลิกการชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในที่สุดตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยเมื่อรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จจะมีการนำเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ก่อนสิ้นสุดการขยายระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 24 กันยายน 2567

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบตามมติที่ประชุม กพช. เรื่องการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 เนื่องจากกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป เพื่อเป็นกลไกรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตรกร

สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งเป็น ไบโอดีเซลซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลและเอทานอลซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล ซึ่ง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มีบทเฉพาะกาล ระบุว่า นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ การจ่ายเงินชดเชยแก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งดำเนินการมาก่อนหน้านี้ให้ดำเนินต่อไปอีก 3 ปีนับตั้งแต่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ โดยทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยทุกรอบระยะเวลา 1 ปี แต่หากมีความจำเป็นต้องขยายเวลาออกไป กพช. เสนอต่อ ครม.ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 2 ปี

Visitors: 2,142,493