บีเอ็นวาย เมลลอน เผยทิศทางการลงทุนโลก ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ยังมีท่าทีที่แตกต่าง ส่งผลต่อการลงทุนโค้งสุดท้าย ปี 2566

บีเอ็นวาย เมลลอน ที่ปรึกษาการลงทุนระดับโลกและพันธมิตรของเมย์แบงก์ คาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่มีต่อแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางในประเทศยักษ์ใหญ่ซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกัน จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเงินเฟ้อ การจ้างงาน การบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนคาดการณ์แนวโน้มปัจจัยเสี่ยง สินทรัพย์ และโอกาสการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนได้จับตาดูและเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสการลงทุนที่คาดว่าจะกลับมาร้อนแรงขึ้นในหลายประเทศ

        ทีมวิเคราะห์ของทาง BNY Mellon มองว่า การปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกยังคงมีความแตกต่างกัน จึงอาจเป็นเหตุให้ธนาคารกลางขนาดใหญ่ดำเนินนโยบายต่างกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

        ในสหรัฐอเมริกา BNY Mellon มองอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มชะลอตัวลง อัตราการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ผสานกับตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ทำให้เกิดมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามนักลงทุนมีแนวโน้มจะประเมินความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำเกินไป อีกทั้งคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และแสดงจุดยืนด้านนโยบายทางการเงินที่สอดคล้องกันในการประชุม FED เดือนกันยายนนี้

        ด้านยุโรป ทีมวิเคราะห์ของทาง BNY Mellon มองอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเช่นกัน แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง  ในขณะที่แนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลง ทำให้ยุโรปยังคงเผชิญความท้าทายมากกว่าในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว จึงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะใช้นโยบายที่ระมัดระวังมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

        ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นและอังกฤษ อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลให้ธนาคารกลางของทั้ง ประเทศ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายทางการเงินที่รัดกุมขึ้น ซึ่งจะทำให้ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว โดยปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย คงอัตราดอกเบี้ยติดลบ ในขณะที่ยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในระยะท้ายของ
วัฎจักร

        ในส่วนของญี่ปุ่น คาดว่าธนาคารกลาง (BOJ) มีโอกาสผ่อนผันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น ตามสถานการณ์ตลาด และจะเข้าแทรกควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเมื่อเห็นควร (yield curve control) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อธนาคารในญี่ปุ่นในท้ายที่สุด

        สำหรับจีน BNY Mellon มองว่าการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจีน สินค้าคงคลังที่ยังคงเหลือปริมาณมาก จากพฤติกรรมการการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงของประชากรจีน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า ซึ่งภาวะการชะลอทางเศรษฐกิจของจีนนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปจีน โดยเราเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในยุโรป ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ด้านเมย์แบงก์ ประเทศไทย โดย คุณอภิญญา องค์คุณารักษ์ CFA, CAIA กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงาน Investment Solutions บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า การลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ยังคงน่าสนใจทั้งในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่น สังเกตจากผลประกอบการของบริษัทเอกชนในไตรมาสที่สอง ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับตัวเลขภาคแรงงานที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มชะลอความร้อนแรง จึงยังคงมองว่าตลาดหุ้นสามารถรับปัจจัยที่ FED น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อยอีกหนึ่งครั้ง และจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไประดับหนึ่งแล้วจึงมี Downside จากประเด็นนี้ หุ้นกลุ่ม Quality Growth ของสหรัฐ ยังมีความน่าสนใจ ที่สามารถเก็บสะสมได้ระยะยาว

ในส่วนของญี่ปุ่น คุณอภิญญา เปิดเผยว่า การลงทุนระยะกลาง-ยาว ในหุ้นญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีการปรับมาตรการ Yield Curve Control (YCC) ให้มีความยืดหยุ่น และยังใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ช่วยสนับสนุนให้ค่าเงินเยนยังอ่อนค่าต่อ และการปรับมาตรการ YCC ให้ยืดหยุ่นนี้ อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (JBG yield) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หุ้นกลุ่มการเงินโดยเฉพาะกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี รวมถึงผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นยังคงออกมาดีต่อเนื่อง ประกอบกับการประกาศซื้อหุ้นคืนและการจ่ายปันผลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะช่วยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ก้าวต่อไปอย่างแข็งแรงอีกด้วย

Visitors: 2,134,973